ประวัติ

ประวัติสถานศึกษา
       เดิมที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่ห้องสมุดประชาชนอำเภอทับคล้อ    อาคารขุนไผ่ภูมิเขตอนุสรณ์ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างอุทิศให้แก่ขุนไผ่ภูมิเขต  โดยพันเอกหญิง ดร.สมสมัย  สิทธิเกสร  ดำเนินการก่อสร้างเมื่อ  15  กุมภาพันธ์  2530   แบบอาคารทรงไทยจตุรมุข   บริเวณทิศตะวันออก   ของที่ว่าการอำเภอทับคล้อ  เรียกอาคารนี้ว่า  " ขุนไผ่ภูมิเขตรอนุสรณ์" และด้วยศรัทธาในด้านการศึกษาของผู้สร้างอุทิศ      จึงได้มอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินพร้อมอาคารให้กรมการศึกษานอกโรงเรียน     กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งเป็นห้องสมุดประชาชนอำเภอทับคล้อ  เมื่อวันที่  8  มกราคม  2531    โดยนายธวัช  มกรพงษ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร   เป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร   และมีนายเทอดศักดิ์  กรรณสูตร  นายอำเภอทับคล้อ    เป็นประธานกรรมการจัดงาน
       เมื่อปี 2537  กรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้ประกาศจัดตั้ง ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอทับคล้อ สำนักงานจัดตั้งที่ห้องสมุดประชาชนอำเภอทับคล้อ  ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ 1  คือ  นายเอนก  ศรีสุวรรณ  ต่อมาเมื่อปี  2545   กรมการศึกษานอกโรงเรียนมีนโยบายให้สถานศึกษาเป็นเอกเทศออกจากห้องสมุดประชาชน  จึงย้ายที่ตั้งอาคารสำนักงานมาเช่าตึกแถวอาคารพาณิชย์ ถนนตะพานหิน-เพชรบูรณ์  ตำบลทับคล้อ งบประมาณเช่าอาคารของกรมการศึกษานอกโรงเรียน ต่อมาเมื่อปี  2547   ได้ประสานงานความร่วมมือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจิตร เขต  2   ขอใช้อาคารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอทับคล้อ  เป็นอาคารที่ตั้งสำนักงาน ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอทับคล้อ  และดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  อาณาเขต อำเภอทับคล้อ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดพิจิตร มีพื้นที่ประมาณ 378,287 ตารางกิโลเมตร  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดพิจิตร ประมาณ 45 กิโลเมตร มีอาณาเขต ดังนี้
                    ทิศเหนือ   ติดต่อกับ    อำเภอวังทรายพูน  จังหวัดพิจิตร
                    ทิศใต้       ติดต่อกับ   อำเภอดงเจริญ และอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร
                    ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ  อำเภอชนแดน และอำเภอวังโป่ง  จังหวัดเพชรบูรณ์
                    ทิศตะวันตก     ติดต่อกับ  อำเภอตะพานหิน   จังหวัดพิจิตร

 สภาพชุมชน     
สภาพทั่วไป
             ทับคล้อ เป็นชื่อตำบลและหมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก  ของอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร   อาจารย์สายบัว มีลาภ  กล่าวว่าเดิมตำบลทับคล้อนี้ชื่อว่า “บ้านท่ามะดัน”  (บางคนว่าเดิมชื่อ “ทับค้อ” เพราะมีไข้ชุกชุมมีคนตายมากแล้วนำศพไปฝังทับถมกัน)   มีสภาพเป็นป่าดงดิบ ป่าไม้ยางและเป็นทางผ่านของผู้ที่จะเดินทางไปอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์     เมื่อเดินทางผ่านจะพักแรมหุงหาอาหารที่ใต้ต้นตะคร้อใหญ่ขนาด 5 คนโอบ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านตะคร้อ” ต่อมาเพี้ยนเป็น “ทับคล้อ”      แต่สำหรับ อาจารย์วิจิตร  เสนานิมิตร  กล่าวว่ามีคนสร้างที่พักเรียกว่า “ทับ” ที่ใต้ต้นตะคร้อจึงเรียกว่า   “ทับคล้อ” หมู่บ้านนี้ ตั้งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2470     เดิมขึ้นกับตำบลท้ายทุ่ง   อำเภอบางมูลนาก และเมื่อ  ตะพานหินยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอจึงเปลี่ยนมาขึ้นกับอำเภอตะพานหิน
             ตลาดทับคล้อปัจจุบัน สมัยก่อนเคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ  จากการตรวจพบจากภาพถ่ายทางอากาศของชุมชนศึกษาวัฒนธรรมโบราณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  ที่ออกสำรวจเมื่อวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน 2509 พบซากเจดีย์ในที่ปลูกผักของชาวบ้านวังโอ่ง   หมู่ที่ 9 ตำบลทับคล้อ    และที่หลังตลาด ทับคล้อ ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเรือนและตลาดร้านค้าไปหมดแล้ว ประกอบกับมีถนนสายตะพานหิน – เพชรบูรณ์   ผ่านกลางตัวเมืองทางราชการจึงยกฐานะขึ้นเป็นสุขาภิบาลทับคล้อ   และเป็นเทศบาลตำบลทับคล้อ ในเวลาต่อมา
             วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ทับคล้อ ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอโดยใช้พื้นที่อาคารพาณิชย์ บริเวณตลาดเภาอ่อนเป็นที่ทำการชั่วคราว      ต่อมาอำเภอทับคล้อ ได้รับการบริจาคที่ดินจาก พันเอกหญิง ดร. สมสมัย  สิทธิเกสร ให้สร้างเป็นที่ว่าการอำเภอทับคล้อในปัจจุบันและได้ย้ายที่ทำการเป็นการถาวรพร้อมกับยกฐานะเป็นอำเภอโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2530
ลักษณะภูมิประเทศ
             พื้นที่ของอำเภอทับคล้อ  เป็นพื้นที่ ที่มีความลาดเอียงจากทางทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการทำนา  อยู่ในเขตตำบลท้ายทุ่ง ตำบลทับคล้อ และบางส่วนของตำบลเขาเจ็ดลูก กับตำบลเขาทราย
ประชากร
ประชากรทั้งสิ้น            44,663  คน
เป็นชาย                    22,018  คน
เป็นหญิง                   22,637  คน
พื้นที่ประชากร            129  คน/ตารางกิโลเมตร
จำนวนครัวเรือน           12,055  ครัวเรือน
รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี     68,713  บาท  

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น